วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พุทธธรรมเพื่อชีวิตและสังคม

สาระสำคัญ


หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ อคติ 4 ทศพิธราชธรรม 10 และธรรมอันเป็นมงคลชีวิตเรื่องฝึกฝนพัฒนาตน สร้างความเจริญดีงาม และความมั่นคงทางจิตใจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม

จุดประสงค์การเรียนรู้

จุดประสงค์ปลายทาง

มีความรู้และความเข้าใจในพุทธธรรมเพื่อชีวิตและสังคมเรื่อง อคติ 4 ทศพิธราชธรรม 10 มงคลชีวิตเรื่องความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทน และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมได้

จุดประสงค์นำทาง
1. อธิบายความหมายและหลักของอคติ 4 และทศพิธราชธรรม 10 ได้
2. วิเคราะห์คุณและโทษของการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามอคติ 4 และทศพิธราชธรรม 10 ได้
3. อธิบายความหมายและหลักของมงคลชีวิตเรื่อง ความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทนได้
4. วิเคราะห์คุณและโทษของการปฏิบัติตนและไม่ปฏิบัติตามมงคลชีวิตเรื่อง ความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทนได้
3.1 บทนำ
      ตลอดระยะเวลา 45 พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนา หลักธรรมคำสอนหรือที่เรียกว่า พุทธธรรมที่พระองค์ทรงนำมาแสดง ชี้แจง และเปิดเผยแก่ชาวโลกนั้นมีมากมาย ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลาย มีทั้งเนื้อหาในระดับสัจธรรม คือหลักความจริงตามแนวเหตุผลตามกระบวนการตามธรรมชาติ ที่สามารถทำให้บุคคลเข้าถึงเผ้าหมายสูงสุด คือภาวะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ และเนื้อหาในระดับศีลธรรมคือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม หลักธรรมคำสอนจึงถือเป็นหัวใจของพระศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้เราในฐานะเป็นพระพุทธศาสนิกชนจึงควรศึกษาหลักธรรมคำสอนหรือพุทธธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วเลือกเฟ้นนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมส่วนรวม หลักธรรมที่นักเรียนจะได้ศึกษาในชั้นนี้ ได้แก่ อคติ 4 ทศพิธราชธรรม 10 มงคลชีวิตเรื่องความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทน
3.2 อคติ
      โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลสย่อมจะมีอคติด้วยกันทุกคน เพราะมนุษย์เราเมื่อจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุทำให้ความไม่ถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก
1. ความหมายและประเภทของอคติ
    อคติ แปลว่า ทางความประพฤติที่ผิด หมายถึง ความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม พระพุทธศาสนาแบ่งอคติออกเป็น 4 ประเภท ตามพื้นฐานแห่งจิตใจ คือ
      1) ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะรักหรือชอบ หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักหรือความชอบพอกัน ฉันทาคติมักเกิดกับตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน คนใกล้ชิด และพวกพ้อง ความรักหรือความชอบที่มีต่อบุคคลเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้เรากลายเป็นคนมีอคติได้ เช่น ถ้าเด็กสองคนทะเลาะกัน พ่อแม่ของเด็กทั้งสองก็มักจะเข้าข้างลูกของตนเองเชื่อไว้ก่อนว่าลูกของตนเองเป็นฝ่ายถูก โดยไม่รับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง นี่เป็นความลำเอียงเพราะรัก
      2) โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะเกลียดชัง ไม่ชอบ หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เกิดเสียความยุติธรรม เพราะเกลียดชัง โกรธ หรือทะลุอำนาจโทสะ โทสาคติมักจะเกิดกับคนที่เราเกลียดมาก ๆ เช่น คู่แข่ง ศัตรู หรือคนที่เคยทำให้เราเจ็บใจ ทำให้เราเสียผลประโยชน์ บุคคลเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เราเป็นคนลำเอียงได้โดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าทหารทะเลาะกันกับตำรวจ คนขับรถรับจ้างมักจะเข้าข้างทหารไว้ก่อน เพราะคนขับรถถูกตำรวจเขียนใบสั่งบ่อย ๆ นี่เป็นความลำเอียงเพราะไม่ชอบหน้ากัน
      3) โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความหลงผิดหรือความเขลา หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรมเพราะความไม่รู้ โมหาคติมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องมาจากความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจโดยยังมิได้พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน จึงเป็นสาเหตุทำให้คนผิดกลายเป็นคนถูก คนถูกกลายเป็นคนผิด ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เช่น ผู้ชายสองคน คนหนึ่งแต่งตัวดี ดูภูมิฐาน หน้าตาหล่อเหลา อีกคนหนึ่งนุ่งกางเกงยีนส์เก่า ๆ เสื้อผ้าขาด ๆ ดูโทรม ๆ ไม่น่าไว้วางใจ คนเฝ้าบ้านไว้ใจผู้ชายคนแรกมากกว่าผู้ชายคนหลัง และยอมเปิดประตูบ้านให้เข้าไปนั่งในห้องรับแขก ผู้ชายคนดังกล่าวกลายเป็นโจรผู้ร้าย นี่เป็นความลำเอียงเพราะความเขลา
      4) ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตราย ความกลัวมีหลายรูปแบบ เช่น ความกลัวภัยอันตรายมาถึงตนหรือครอบครัว กลัวเสียหน้า กลัวคนเกลียด กลัวจะได้สิ่งที่ไม่ต้องการ เป็นต้น ความกลัวเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาสองคน คนหนึ่งเป็นลูกของพ่อค้าขายของชำ อีกคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าพ่อมีอิทธิพลเลี้ยงนักเลงไว้มาก ทั้งสองคนทำผิด คนแรกถูกผู้บังคับบัญชาไล่ออกจากงาน ส่วนคนหลังยังคงทำงานต่อไป ไม่มีการลงโทษใด ๆ นี่เป็นความลำเอียงเพราะหวาดกลัวอิทธิพลมืด

2. แนวทางปฏิบัติเพื่อชีวิตและสังคม
    มนุษย์เราชอบความยุติธรรม รักความซื่อสัตย์ และเกลียดชังความลำเอียง แต่การที่เราจะสร้างความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ และหลีกเลี่ยงความลำเอียงได้นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก วิธีเดียวที่ทำได้ คือ การฝึกฝนจิตใจให้หนักแน่น โดยยึดหลัก การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราเกลียดชังความลำเอียงหรือความอยุติธรรมอย่างไร คนอื่นก็เกลียดชังความลำเอียง ความอยุติธรรมเช่นเดียวกับเรา อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขข้ออคติแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน ดังนี้
      1. ฉันทาคติ แก้ไขโดยการฝึกทำใจให้เป็นกลาง โดยการปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนกัน ต้องไม่ประมาท ไม่เผลอ และต้องมีสติอยู่เสมอว่ากำลังทำอะไรกับใคร
      2. โทสาคติ แก้ไขโดยการทำใจให้หนักแน่น ใจเย็น ไม่วู่วาม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามแยกเรื่องส่วนตัวกลับเรื่องงานออกจากกัน
      3. โมหาคติ แก้ไขได้โดยการเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และต้องศึกษาสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดี
      4. ภยาคติ แก้ไขได้โดยการพยายามฝึกให้เกิดความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูด และกล้าพูดในสิ่งที่ดีงาม

3. คุณค่าและประโยชน์ของการไม่มีอคติ
    อคติเป็นทางที่ไม่ควรปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงโดยการพิจารณาถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา หากพิจารณาว่าเรากำลังมีจิตใจลำเอียงหรือไม่ยุติธรรม ก็ให้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองใหม่ให้ตรงกันข้ามกับคือความมาลำเอียง ที่ใดมีอคติ ที่นั่นก็จะไม่มีความยุติธรรม ความลำเอียงสร้างความเคียดแค้น น้อยเนื้อต่ำใจ กำจัดอคติได้ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างโปร่งใส และมีความสุขจากการที่กล่าวจะเห็นได้ว่า ความลำเอียงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการ เพราะความลำเอียงเป็นตัวทำลายความยุติธรรมในทุกแห่งทุกสถานการณ์ สังคมใดประกอบด้วยกลุ่มชนที่มีอคติ สังคมนั้นย่อมมีแต่ความหวาดระแวง หาความสงบสุขมิได้ ด้วยเหตุนี้การแสดงความคิดเห็น ควรวิพากษ์วิจารณ์ การตัดสินใจและการสนับสนุนหรือทำลายล้าง จึงต้องสืบค้นหาข้อเท็จจริง ใช้เหตุผลที่ถูกต้อง ยึดมั่นในหลักความยุติธรรม มีความเป็นกลาง มีหลักฐานแล้วดำเนินการไปตามหลักของศีลธรรม ประเพณี และกฎหมาย กระทำเช่นนี้ได้ผู้กระทำย่อมได้รับความไว้วางใจจากสังคม และสังคมย่อมเกิดความสงบสุข

3.3 ทศพิธราชธรรม
      ผู้นำ คือ บุคคลที่เป็นหัวหน้าของกลุ่มชน หรือผู้ปกครอง ผู้นำหรือผู้ปกครองไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด นับตั้งแต่ผู้ปกครอง หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ ตามหลักสากลนอกจากมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต่อความเจริญ ความมั่นคง และความสงบสุขของสังคมนั้น ๆ แล้ว ยังมีคุณสมบัติที่สำคัญประกอบด้วยความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจในตนเอง การมีมนุษยสัมพันธ์ การตัดสินใจแก้ปัญหาตามหลักการและเหตุผล และการมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้นำหรือผู้ปกครอง คือ การมีคุณธรรม ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้กำหนดคุณธรรมของผู้นำไว้ 10 ประการ เรียกว่า ทศพิธราชธรรม
      1. ความหมายและประเภทของทศพิธราชธรรม
          ทศพิธราชธรรม คือ คุณธรรมของพระราชาผู้ปกครองประเทศ อย่างไรก็ตามทศพิธราชธรรมนี้ไม่ใช่เป็นคุณธรรมเฉพาะพระราชา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไป ตั้งแต่ผู้บริหารบ้านเมืองลงมาจนถึงหัวหน้าครอบครัว ดังที่ปรากฏในพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น สุจิตโต วัดบวรนิเวศวิหาร) แสดงถวายในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2493 ข้อความตอนนี้หนึ่งว่า “...ทศพิธราชธรรมนี้เมื่อพิจารณาด้วยดีจักเห็นได้ว่า มิใช่เป็นธรรมเฉพาะท่านผู้ปกครองประชาชนชั้นสูงสุดเท่านั้น แต่เป็นธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไปตั้งแต่ส่วนใหญ่ เช่น ประมุขของประเทศชาติและรัฐบาลตลอดส่วนน้อย เช่น หัวหน้าครอบครัว ทั้งเป็นธรรมสำหรับผู้อยู่ในปกครองด้วย เพราะการปกครองจักดำเนินไปได้ด้วยดี ผู้อยู่ในปกครองก็จำต้องประพฤติธรรมนี้ด้วยตามฐานะ เพราะฉะนั้นทศพิธราชธรรมนี้จึงเป็นธรรมสำหรับคนที่อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เหล่า ตั้งแต่ครอบครัวหนึ่งจนถึงประเทศชาติ หรือทั้งหมดพึงประพฤติต่อกัน เพื่อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขสงบและมีความเจริญ ...”
      ทศพิธราชธรรม 10 ประการมีคำอธิบาย ดังนี้
1. ทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของและอื่น ๆ เพื่อประโยชน์และความสุขของผู้รับ ผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องคิดถึงความสุขของส่วนรวมมากกว่าส่วยตนเสมอ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกของสังคมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินหรือเงินทอง แม้กระทั่งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังสติปัญญา กล่าวโดยสรุปทานนั้นมี 2 อย่างคือ
    1.1 อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ หรือปัจจัย 4 ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
    1.2 ธรรมทาน คือ การให้ธรรม ได้แก่ คำแนะนำสั่งสอน คำตักเตือน และข้อคิดคติเตือนใจต่าง ๆ
    การให้อีกประการหนึ่งที่แยกออกมาจากธรรมทาน คือ อภัยทาน ได้แก่ การให้อภัยกัน การไม่ถือโทษหรือการยกโทษให้แก่ผู้ที่ล่วงเกินทั้งกายและวาจา ผู้นำที่ดีต้องรู้จักให้อภัยแก่สมาชิกในสังคมเสมอเหมือนกัน
    พระมหากษัตริย์ในสมัยพุทธกาล เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นต้น รวมทั้งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ต่างทรงปฏิบัติราชธรรมข้อว่าด้วยทานโดยทรงชุบเลี้ยงพระราชวงศ์ ข้าราชบริพารและพสกนิการทั่วไป ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ เครื่องอุปโภคบริโภคตามความเหมาะสมแก่บุคคลนั้น ๆ
2. ศีล คือ ความประพฤติดีงาม หมายถึง การรักษาความประพฤติทางกายและทางวาจาให้เป็นปกติ หรือเป็นไปในทางที่ดีงาม ศีลในหลักทศพิธราชธรรมหมายถึง ศีล 5 ประการได้แก่ การไม่ฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น สัตว์อื่น การไม่ขโมยทรัพย์สินของคนอื่น การไม่ล่วงละเมิดในบุตรภรรยาคนอื่น การไม่พูดเท็จโกหก หลอกลวง การไม่ดื่มสุราและของมึนเมาต่าง ๆ นอกจากนี้ศีลยังหมายถึง ความประพฤติตามกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงาม
    ผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีต้องตั้งอยู่ในศีลธรรม มีวินัย และต้องประพฤติตนดี การประพฤติตนดีนั้นต้องดีพร้อมในทุกทาง ทั้งทางกาย วาจา และใจ นั่นก็คือ ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของคนในสังคม ถ้าสังคมใดมีผู้นำที่ไร้คุณธรรม ขาดระเบียบวินัย สังคมนั้นจะอยู่ไม่ได้ จะปั่นป่วน และอาจถึงความวิบัติในที่สุด แต่ถ้าสังคมใดผู้นำตั้งอยู่ในศีลธรรม ประพฤติตามกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงาม เป็นแบบอย่างที่ดีของคนในสังคม สังคมนั้นก็จะดำรงอยู่ได้นาน มีความเจริญมั่นคงและสงบสุข
    พระมหากษัตริย์ในสมัยพุทธกาลทรงรักษาศีลและทรงประกาศแนะนำให้ราษฎรรักษาศีลด้วย ส่วนพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดต่างล้วนทรงรักษาศีล 5 เป็นนิจศีล
3. ปริจจาคคือ ความเสียสละความสุขและประโยชน์ของตนเพื่อสังคมส่วนรวม ผู้นำหรือผู้ปกครองมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบมาก ผู้นำที่ดีต้องปกครองดุแลสมาชิกในสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข ต้องเอาใจใส่รับรู้ปัญหาของสังคม ต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน หรือส่วนใหญ่มากกว่าส่วนน้อย ต้องพยายามหาทางทำให้สังคมเจริญรุ่งเรือง ผู้นำจึงจำเป็นต้องเสียสละทรัพย์ เสียสละเวลา เสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังสติปัญญา รวมทั้งเสียสละความสุขให้แก่ส่วนรวม นั่นคือ ผู้นำต้องอุทิศตนในทุก ๆ ด้าน เพื่อพัฒนาคนและสังคมให้สงบสุข
    พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตตั้งแต่โบราณกาลมา ต่างสละความสุขส่วนพระองค์ออกสู้ศึก เพื่อป้องกันราชอาณาจักร ทรงสละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่หรือเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ ทรงสละเวลา กำลังปัญญา และกำลังทรัพย์ เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ สำหรับการบริจาคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น คือ ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกรเป็นอเนกประการ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมเยียนราษฎรทุกภาคของประเทศ แม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร การพระราชทานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาการเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันและกำจัดมลพิษของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเกิดวิกฤตกาลทางการเมืองเกิดขึ้นครั้งใด พระองค์ได้สละเวลามาแก้ปัญหาและได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ไขวิกฤติการณ์จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติทุกครั้ง
4. อาชชวะ คือ ความซื่อตรง หมายถึง ความตรงไปตรงมา ผู้นำหรือผู้ปกครองต้องเป็น
    แบบอย่างเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม หากผู้นำขาดความซื่อตรง มีเล่ห์เหลี่ยม คดในข้องอในกระดูก ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปากพูดอย่าง ทำอีกอย่าง และคิดไปอีกอย่าง ย่อมจะไม่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากคนในสังคม จะตัดสินปัญหาใด ๆ ก็ไม่ได้รับความสะดวก ทุกคนไม่ยอมรับ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงต้องมีความซื่อตรง เพราะความซื่อตรงเปรียบเหมือนเกราะป้องกันมิให้ผู้ใดกล้าใส่ร้ายป้ายสี
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงซื่อตรงต่อบุคคลทั้งปวง ไม่ทรงเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายไหน จึงทรงได้รับความรักจากมวลพสกนิกรทั่วประเทศ และทรงองอาจในที่ทั้งปวง
5. มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน หมายถึง ความเป็นผู้มีอัธยาศัยสุภาพ อ่อนโยนต่อคนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ความสุภาพอ่อนโยนนี้ มนทางปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันย่อมมีการปรับใช้ตามเหตุ และตามความเหมาะสมแก่บุคคลและกาลเทศะ เช่น เมื่อใช้กับบุคคลที่วัยวุฒิสูงกว่า ความสุภาพอ่อนโยนก็คือความมีสัมมาคารวะ เมื่ออยู่กับคนที่อ่อนวัยวุฒิความสุภาพอ่อนโยนก็จะแปลเป็นความเอ็นดูหรือความกรุณา เป็นต้น
    คนที่มีความสุภาพอ่อนโยนจะเป็นคนที่เข้ากับบุคคลอื่นได้ง่ายและได้ดี มักจะเป็นผู้ที่ไดรับการยอมรับจากคนอื่น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนน่านับถือ คนเสมอกันก็น่าคบหาสมาคม คนต่ำกว่าก็เป็นคนน่ารักเอ็นดู
    นอกจากนี้คนที่มีความสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาคารวะก็อาจประกอบกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยเหตุนี้ท่านจึงจัดมัททวะเป็นทศพิธราชธรรมข้อหนึ่ง
    พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงมีความอ่อนโยนต่อบุคคลทุกชั้น เมื่อมีผู้มากราบทูลตักเตือนด้วยข้ออรรถข้อธรรมที่กอปรด้วยเหตุผล ก็มิได้ทรงห้ามปรามคัดค้าน ทรงวิจารณ์โดยถ้วนถี่ ถ้าทรงเห็นดีเห็นชอบก็ทรงอนุโมทนา แล้วทรงอนุวัตร คือ ปฏิบัติตาม ไม่ทรงถือพระองค์ หรือลุแก่อำนาจ ทรงมีสัมมาคารวะอ่อนน้อม แก่ท่านผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ไม่ทรงดูหมิ่นดูแคลนผู้ใด แต่ทรงมีความเมตตาต่อผู้น้อยด้วยพระราชอัธยาศัยอันละมุนละไม ดังตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป เมื่อพระองค์จะทรงตักเตือนผู้ใดในคณะรัฐบาลหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ทรงมีพระราชดำรัสอย่างนิ่มนวล แม้ผู้ใดจะกราบทูลเสนอแนะและคัดค้านพระราชดำริ ก็ทรงรับคำนั้นไว้พิจารณามิได้ทรงขัดเคือง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความใกล้ชิดไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนเจ็บไข้และชรา
6. ตบะ คือ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส หมายถึง ความเพียรพยายามขจัดกิเลสตัณหาไม่ให้เข้าครอบงำจิตใจ สามารถบังคับควบคุมตนเองมิให้ลุ่มหลงหมกหมุ่นในความสุขสำราญ จนเป็นเหตุให้เสียการงานได้ ผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีต้องมีสติระลึกอยู่เสมอว่า ตนมีหน้าที่อะไร มีความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร จะต้องมุ่งมั่นต่อหน้าที่นั้น ไม่ปล่อยใจให้หลงใหลในความสุขสำราญที่มีผู้เสนอสนองมาให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จนลืมหน้าที่ ลืมตัว และหลงผิด ผู้นำที่เห็นหน้าที่สำคัญกว่าความสุขสำราญ ย่อมจะสร้างความก้าวหน้ามั่นคงและความสงบสุขแก่สังคม ผู้นำที่มีตบะจะก่อให้เกิดความรู้สึกเกรงขามและความศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้ที่พบเห็น
    พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงตั้งพระราชหฤทัยในอันที่กำจัดความเกียจคร้านและการทำผิดหน้าที่ ทรงมีพระอุตสาหะวิริยภาพในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดียิ่ง ๆ ขึ้น ทรงมีตบะเดชะเป็นที่ยำเกรงของบุคคลทั่วไป ตลอดจนทรงสมาทานกุศลวัตรกำจัดอกุศลวิตกบาปธรรมให้เสื่อมสูญไป
7. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ หรือการไม่แสดงความไม่โกรธให้ปรากฏ ผู้นำจะต้องมีจิตใจมั่นคง สุขุมเยือกเย็น สามารถอดกลั้นความไม่พอใจไว้ได้ ไม่แสดงโทสะ ด่าว่าเกรี้ยวกราด แม้บางครั้งจะถูกติฉินนินทา หรือวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีมูลความจริง ก็ข่มใจไว้ได้ แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบด้วยอารมณ์ แต่ใช้เหตุผลพูดจากัน หรือแม้บางครั้งมอบหมายงานผู้ใต้บังคับบัญชา เขาทำงานบกพร่องเสียหาย ผู้เป็นหัวหน้าต้องใจเย็น โมโหฉุนเฉียว หรือลงโทษเขาโดยไร้เหตุผล ถ้าเมื่อใดผู้นำหรือผู้เป็นหัวหน้าไม่อาจระงับยับยั้ง ความหงุดหงิด แค้นเคืองได้ ปล่อยให้กำเริบขึ้นมา ความเสียหายเกิดขึ้นแก่การบริหารแน่นอน ตัวของผู้บริหารเองก็เสียหายด้วย นั่นคือเสียบุคลิกภาพ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็เข็ดขยาดไม่กล้าเข้าหน้า ยังผลเสียหายในภาพรวมเกิดตามมามากเกินกว่าที่จะคาดคิดถึง ทั้งนี้เพราะการบริหารงานที่ถูกอารมณ์โกรธบดบังเหตุผลและสภาพความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่เห็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
    พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงมีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยพระเมตตา ไม่ทรงปรารถนาก่อภัยก่อเวรแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุผลไม่สมควร แม้มีเหตุให้ทรงพระพิโรธก็ทรงข่มเสียให้สงบระงับด้วยทรงใช้โยนิโสมนิสิการ คือ ทรงพิจารณาด้วยอุบายอันแยบคายที่จะระงับความโกรธนั้น
8. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน หมายถึง การไม่กดขี่ข่มเหงรังแกผู้อื่น สัตว์อื่นให้เดือดร้อนลำบาก ตามอำเภอใจหรือเห็นเป็นเกมสนุก ๆ ของตนเอง เพราะลุอำนาจแห่งโมหะ
    ผู้นำหรือผู้ปกครองเป็นผู้มีอำนาจ มีกำลัง มีทรัพย์มากกว่าผู้อื่น และมีโอกาสที่จะเลือกปฏิบัติอย่างที่ตนพอใจเหนือกว่าผู้อื่น เพราะไม่มีใครกล้าทัดทานหรือห้ามปราม หากผู้นำหรือผู้ปกครองใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ดังกล่าวไปกดขี่ข่มแหงผู้ที่ด้อยกว่า สังคมจะมีแต่ความยุ่งเหยิงระส่ำระสาย ดังนั้น ผู้นำที่ดีต้องไม่หลงระเริงในอำนาจ ใช้อำนาจทำอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินผู้อื่นตามอำเภอใจ ต้องคอยช่วยเหลือประคับประคองผู้ที่ด้อยหว่า หรือผู้ที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ผู้นำที่ยึดทศพิธราชธรรมข้อนี้ย่อมสร้างพระคุณมากกว่าพระเดช ย่อมเป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลทั่วไป รวมทั้งสามารสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข
    พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นพื้นฐานแห่งพระราชอัธยาศัยไม่ทรงปรารถนาก่อทุกข์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและอาณาประชาราษฎร์ให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่ควรทำ ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร พระราชทานอภัยให้ฝูงนก สัตว์บก สัตว์น้ำทั่วกัน ทรงห้ามการพนันที่ทรมานสัตว์อย่างเด็ดขาด และส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎร์ร่วมกันบำเพ็ญอภัยทาน
9. ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง ความเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย สามารถทนต่องานหนัก ความเหนื่อยยากลำบาก หรือแม้กระทั่งสามารถทนต่อความเจ็บใจที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้ ผู้นำหรือผู้ปกครองหากขาดขันติ ก็เป็นคนในเสาะ อ่อนแอ ไม่กล้าเผชิญกับความจริง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกต่อต้าน ถูกทำร้าย ถูกกล่าวหา ก็เอะอะโวยวาย วู่วาม ขี้บ่น และทนไม่ได้ ผู้นำเช่นนี้จะไม่ได้รับความไว้วางใจและความเลื่อมใสจากผู้ที่อยู่ในความดูแล จะได้รับแต่ความดูหมิ่นเหยียดหยาม ในทางตรงกันข้ามผู้นำที่ดีต้องมีความอดทน เข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่อความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก แม้มีอุปสรรคก็สามารถฟันฝ่าจนผ่านพ้นไปได้ ผู้นำเช่นนี้จะได้รับการยอย่อง นับถือ ความไว้วางใจจากผู้ที่อยู่ในความดูแล อึกทั้งยังสามารถเป็นศูนย์รวมน้ำใจของประชาชนได้
    ขันติ เป็นทศพิธราชธรรมที่จำเป็นสำหรับผู้นำ หรือผู้เป็นใหญ่ กล่าวคือ ต้องอดทนต่อโลภะ โทสะ โมหะ อดทนต่อความลำบากทั้งกายและใจ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความอดทนอย่างยิ่งยวด ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาราษฎร์ แม้สถานที่พระองค์เสด็จไปทุรกันดารเพียงไหน พระองค์ก็เสด็จไปถึง โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยส่วนพระองค์เลย
10. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรม หมายถึง ความเป็นผู้ไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม การรู้จักวางตัวเป็นหลักหนักแน่น มั่นคง ไม่เอนเอียงไปเพราะอำนาจของความลำเอียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ เพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง และเพราะกลัว หรือเพราอำนาจของโลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเสื่อมจากลาภ ความเสื่อมจากยศ นินทา และความทุกข์ ผู้นำหรือผู้ปกครองที่ดีต้องตั้งมั่นอยู่ในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม และนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผน หลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
    ทศพิธราชธรรมข้อนี้ถือว่าเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญมาก เป็นหลักการที่รวมคุณสมบัติความเป็นผู้นำทั้งหมด และเป็นหลักเกณฑ์การตัดสินใจในทุกกรณี การกระทำใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักยุติธรรมและนิติธรรม ผู้นำต้องไม่ประพฤติปฏิบัติ ผู้นำที่มีคุณธรรมข้อนี้จะได้รับความเคารพนับถือ และความไว้วางใจจากประชาชน
    พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมข้ออวิโรธนะนี้ ไม่ทรงประพฤติผิดจากขัตติยราชประเพณีราชจรรยานุวัตร นิติศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีคุณความดีควรยกย่อง ทรงบำราบคนมีความผิดด้วยทางที่เป็นธรรม ไม่ทรงอุปถัมภ์ยกย่องและบำราบคนนั้น ๆ ด้วยอำนาจอคติ คือความลำเอียง เมื่อมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาถึงพระองค์ก็ไม่ทรงแสดงความยินดีให้ปรากฏ หรือเมื่อมีความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และได้รับความทุกข์ซึ่งไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ก็ไม่แสดงความยินร้าย เสียพระราชหฤทัยให้ปรากฏ ทรงรักษาพระอาการไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่แสดงให้ผิดปกติจากเดิม

    2. คุณค่าและประโยชน์ของทศพิธราชธรรม
        ทศพิธราชธรรมทั้ง 10 ประการนี้ เป็นคุณธรรมที่สำคัญและจำเป้นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำหรือผู้ปกครองทุกระดับตั้งแต่ครอบครัวถึงประเทศชาติ หากผู้นำหรือผู้ปกครองมีคุณธรรมทั้ง 10 ประการดังกล่าว นอกจากพวกเขาจะสมควรได้รับความเคารพนับถือ และความไว้วางใจจากสมาชิกในสังคมแล้ว ก็นับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมสงบสุขและเจริญก้าวหน้า จึงนับเป็นเรื่องดีและเป็นบุญอย่างเหลือล้นสำหรับประชาชนชาวไทยที่มีผู้นำประเทศ หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างสมบูรณ์และมั่นคงมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยพระองค์ตรัสว่า เราจักครองแผ่นดินโดยธรรม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้ว พระองค์ยังคงทรงดำรงพระองค์อยู่ในธรรม คือ ทรงประพฤติทศพิธราชธรรมมาโดยตลอดด้วยเหตุนี้ เราในฐานะเป็นพสกนิกรผู้อยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงสมควรที่จะประพฤติตนตามรอยพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี
3.4 มงคลชีวิต
      มงคลชีวิต ตามหลักพระพุทธสาสนา หมายถึง ธรรมหรือหลักปฏิบัติที่นำความสุขความเจริญมาสู่ชีวิต มงคลชีวิตพุทธเจ้าแสดงไว้ในมงคลสูตรมี 38 ประการ สำหรับในภาคเรียนนี้กำหนดให้เรียน 5 เรื่อง ได้แก่ ความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทน
1. ความไม่ประมาท
          ความไม่ประมาท เป็นมงคลข้อที่ 21 ในมงคลสูตร เรื่องความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในปัจฉิมโอวาท ซึ่งเปรียบเสมือน พินัยกรรมฉบับสุดท้าย ว่า ภิกษุทั้งกลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ไว้ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งกลายจงทำกิจทั้งกลายที่เป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์เพื่อผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด

ความหมายของความไม่ประมาท
    ความไม่ประมาท หมายถึง ความรอบคอบ ความระมัดระวัง ความเป็นผู้มีสติ รู้สึกตัวอยู่ตอลดเวลาว่ากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร และกำลังคิดอะไร ความไม่ประมาท เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความประมาท ซึ่งหมายถึง การขาดความรอบคอบ การขาดความระมัดระวัง หรือการไม่มีสติอยู่กับตัว เราจะเข้าใจความหมายของความไม่ประมาทได้ดีและชัดเจนยิ่งขึ้นหากเราพูดถึงความประมาท
    ความประมาทเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งพอจะสรุปสาเหตุได้ดังนี้
      1. เกิดจากความไม่รู้ ความไม่รู้มักทำให้คนไม่ประมาท เช่น ไม่รู้ว่าการปล่อยให้น้ำขังนองรอบบริเวณบ้านอยู่เป็นเวลานาน จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก จึงขาดการความระมัดระวัง ขาดการเอาใจใส่ ไม่มีความรับผิดชอบ ปล่อยปละละเลย หรือมองข้ามสิ่งเล็กน้อย ความไม่รู้จึงทำให้คนเกิดความไม่ประมาท
      2. เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามความรู้ที่มีอยู่ เช่น คนขับรถรู้กฎจราจรอย่างดี แต่ไม่สนใจที่จะปฏิบัติ ไม่เคารพกฎจราจร ประพฤติย่อหย่อน ขับรถโดยประมาท ในที่สุดก็ประสบอุบัติเหตุก่อให้เกิดความเสียหายมากมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คนที่รู้อยู่แล้วแต่ไม่ได้คิดที่จะมีความรับผิดชอบ ไม่คิดถึงสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเช่นนี้จึงเป็นคนที่ประมาท
      3. เกิดจากการขาดสติ เช่น เด็กวัยรุ่นที่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิต คนที่ขาดสติยั้งคิด นึกจะกระทำอะไรก็ทำ นึกจะพูดอะไรก็พูด โดยไม่คิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนเช่นนี้เรียกว่า คนประมาท
      4. เกิดจากการพ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุ ปัจจัยสิ่งยั่วยุ เย้ายวน ชวนให้หลงใหลมีจำนวนมาก คนบางคนมีความรู้ มีความคิด แต่ไม่สามารถควบคุมสติให้มั่นคงอยู่ได้ เมื่อมีเหตุการณ์หรือสิ่งเร้ามายั่วยุก็จะปล่อยใจให้หลงใหลไปกับเหตุการณ์หรือสิ่งนั้น เช่น ผู้ชายพบเห็นผู้หญิงที่แต่งตัวล่อแหลม ก็เกิดความกำหนัด เมื่อสบโอกาสก็ทำการฉุดคร่าอนาจาร ซึ่งเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่บ่อยในชีวิตประจำวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ คนที่พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุเช่นนี้ ชีวิตจึงมีแต่ความวิบัติเพราะความประมาทนั่นเอง

คุณค่าของความไม่ประมาท
    ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคุณของความไม่ประมาทและโทษของความประมาทอยู่เสมอ เช่น ตรัสว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางนำไปสู่ความตาย บุคคลผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นเสมือนผู้ที่ตายแล้ว พระพุทธเจ้าดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นภาพชัด โดยเฉพาะในเรื่องความประมาท คือ ความขาดสติ ย่อมนำไปสู่ความตายทั้ง ๆ ที่ยังไม่สมควรที่จะตายอย่างคนที่ขับรถเร็วด้วยความประมาท มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ เช่น ขับรถชนผู้อื่นบ้าง ขับรถชนกันบ้าง ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต บางครั้งตัวเองก็พลอยเสียชีวิตไปด้วย นักเรียนที่มีหน้าที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน แต่กลับตั้งอยู่ในความประมาท เกียจคร้านในการศึกษาเล่าเรียน ไม่คิดจะอ่านหนังสือหรือคิดว่าเอาไว้อ่านในเวลาใกล้ ๆ สอบก็ได้ ในที่สุดก็สอบตก หรือสอบได้คะแนนไม่ดี
    ความไม่ประมาทหรือความเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลานั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยต่างก็สรรเสริญ โดยเฉพาะตัวนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้เสมือนเป็นทรัพย์อันประเสริฐสุด เพราะถ้าคนเรามีความไม่ประมาท ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนหรือในการประกอบอาชีพก็ตามย่อมประสบความสำเร็จเสมอ นักปราชญ์จึงชื่นชมยินดีในความไม่ประมาท และในบุคคลที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

แนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นคนไม่ประมาท
    ตามหลักพระพุทธศาสนา ถือว่าความประมาทเกิดจากกิเลสของตน กิเลสที่เป็นสาเหตุให้คนประมาทนั้นมีมากมาย สรุปได้ 3 ประการ ซึ่งเรียกว่า อกุศลมูล ได้แก่
          1. โลภะ คือ ความโลภ ความอยากได้ ความเห็นแก่ตัว
          2. โทสะ คือ ความโกรธ ความเคียดแค้นชิงชัง ความเห็นแก่ตัว
          3. โมหะ คือ ความหลงงมงาย ความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
โลภะหรือความโลภ ทำให้ใจเร็วอยากได้ไม่ยั้งคิด โทสะหรือความโกรธ ทำให้หุนหันพลันแล่น ขาดความรอบคอบ โมหะหรือความหลง ทำให้เผลอไผลถลำตัวไปสู่ความชั่วทั้งหลาย
          กล่าวโดยสรุป คนที่ประมาทเป็นคนที่ขาดสติ เสื่อมจากกุศลธรรมหรือความดีงาม และเพิ่มพูนความชั่วอยู่เป็นนิจ ดังนั้น บุคคลที่ต้องการความสุขความเจริญก้าวหน้าในชีวิตจึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือต้องมีสติอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า ผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ย่อมบรรลุถึงซึ่งความสุขอันไพบูลย์ เพราะเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราทุกคนยินดีในความเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เสมอ โดยพระพุทธองค์ทรงสอนหลักธรรมในเรื่องความไม่ประมาทไว้ 4 ประการคือ
          1. การละกายทุจริต ด้วยการบำเพ็ญกายสุจริต
          2. การละวจีทุจริต ด้วยการบำเพ็ญวจีสุจริต
          3. การละมโนทุจริต ด้วยการบำเพ็ญมโนสุจริต
          4. การละความเห็นผิด ด้วยการทำความเห็นให้ลูก
          คนที่ปฏิบัติตามได้ทั้ง 4 ประการนี้ ย่อมทำให้เกิดกิเลสที่เป็นตัวการทำให้เกิดความไม่ประมาท ซึ่งได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ดังกล่าวข้างต้นลดน้อยลง นับถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะฝึกฝนให้ตนเป็นผู้ไม่ประมาท คือ เป็นผู้มีสติ มีความรอบคอบ มีความระมัดระวังต่อไป
2. ความเคารพ
    ความเคารพ เป็นมงคลข้อที่ 22 ในมงคลสูตร ความเคารพเป็นหลักปฏิบัติและมารยาทที่นักเรียนจะต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องเหมาะสมต่อไป
    ความจริง ความเคารพโดยทั่ว ๆ ไปเป็นสิ่งที่นักเรียนได้ปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว ในรูปแบบของมารยาทไทย เช่น การไหว้ การกราบ การสำรวมระวังกิริยาไม่ยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ เป็นต้น แต่ที่นักเรียนต้องศึกษาเรื่องความเคารพก็เพื่อให้เกิดความตระหนักในความจำเป็นที่เราต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นที่รู้จักวางตนและเคารพผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
ความหมายและประเภทของความเคารพ
    พ.อ.ปิ่น มุทุกัณฑ์ อธิษฐานความหมายของความไม่เคารพไว้ว่า ความเคารพ คือ การตระหนักในความดีอันมีอยู่ในตัวคนอื่น และในสิ่งอื่น พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตตโต) อธิบายไว้ว่า ความเคารพ คือ การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญ แล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นด้วยความจริงใจ
    กล่าวโดยสรุป ความเคารพ หมายถึง การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของบุคคลและสิ่งต่าง ๆ แล้วแสดงกิริยาอาการที่ยกย่องเชิดชูต่อบุคคลและสิ่งนั้น ๆ ถูกต้องเหมาะสม เช่น การกราบ การไหว้ การเอาใจใส่ การกล่าววาจาสุภาพ การคิดสรรเสริญ เป็นต้น
    การเคารพตามหลักพระพุทธศาสนามี 3 ประเภท คือ
    1. ความเคารพ เป็นการตระหนักและมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของบุคคลอื่น แล้วปฏิบัติต่อบุคคลนั้นด้วยความจริงใจ ไม่ใช่แสแสร้งแกล้งทำ บุคคลผู้ที่เราต้องเคารพ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่ประกอบคุณงามความดีให้แก่ส่วนรวมด้วยความเสียสละ
    บุคคลดังกล่าวนี้จัดว่าเป็นวุฒิบุคคลหรือผู้มีวุฒิ วุฒิบุคคลนั้นมี 3 จำพวก คือ ผู้มีคุณงามความดี (คุณวุฒิ) ผู้มีชาติกำเนิดสูงส่ง (ชาติวุฒิ) และผู้มีวัยวุฒิสูงกว่า (วัยวุฒิ) การแสดงกิริยาอาการที่ยกย่องเชิดชูบูชาบุคคลเหล่านี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เรียกว่า เป็นมงคล
    2. การเคารพธรรม เป็นการตระหนักและมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของธรรม แล้วปฏิบัติต่อธรรมนั้นอย่างถูกต้องเหมาะสม ธรรมในที่นี้ได้แก่ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ นอกจากนี้ธรรมยังหมายถึง การปฏิบัติหน้าที่การงานที่ตนได้รับมอบหมายอย่างสมบูรณ์ ธรรมเป็นหลักการที่เราควรเคารพ ซึ่งการแสดงความเคารพในธรรมมิใช่โดยกราบไหว้ แต่ด้วยการระลึกถึงคุณค่าและความสำคัญ หรือยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป
    3. การเคารพวัตถุ เป็นการตระหนักและมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของวัตถุ แล้วปฏิบัติต่อวัตถุนั้นอย่างถูกต้องเหมาะสม วัตถุที่ควรเคารพในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลและธรรม รวมทั้งสถานที่และสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นแทนความดีงามต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป สังเวชนียสถาน พระบรมฉายาลักษณ์ อนุสาวรีย์ของสีรชน รูปเคารพแทนพระสงฆ์ โบสถ์ เจดีย์ วิหาร โรงเรียน สถานการศึกษา เป็นต้น การแสดงความเคารพต่อวัตถุเหล่านี้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามประเภทของวัตถุ สถานที่ และสัญลักษณ์นั้น ๆ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ แสดงความเคารพด้วยการคำนับหรือไว้ วัดหรือโรงเรียน อาจแสดงแกด้วยการสำรวมกิริยาท่าทางเมื่อเข้าสู่สถานที่ดังกล่าว และช่วยกันดูแลรักษา บูรณะซ่อมแซมไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม

วิธีแสดงความเคารพ
    การแสดงความเคารพเป็นมารยาททางสังคม ที่มีความแตกต่างในแต่ละสังคม สำหรับสังคมไทย ถือว่า คาราวธรรม คือ การรู้จักเคารพบุคคลและสิ่งที่ควรเคารพนั้นเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องแสดงออกพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ
    1. การแสดงความเคารพทางกาย เป็นการแสดงความเคารพโดยการกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การกราบ การหมอบกราบ การคำนับ การถวายบังคม การไหว้ การวันทยาหัตถ์ การลุกยืนและนั่งลง การกระทำด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ควรทำได้อย่างนุ่มนวลไม่เก้งก้าง
    2. การแสดงความเคารพทางวาจา เป็นการแสดงความเคารพโดยการพูด การพูดที่แสดงว่าเคารพควรใช้คำขานรับที่ชัดเจน ใช้คำสุภาพ รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับบุคคล ซึ่งแตกต่างกันไปตามวุฒิและบานะ ไม่ใช้คำพูดดูหมิ่นเหยียดหยามด้วยเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น
    3. การแสดงความเคารพทางใจ เป็นการแสดงความเคารพที่ถือว่าสำคัญที่สุด การแสดงความเคารพทางกายและทางวาจา บางครั้งอาจทำโดยไม่มีความรู้สึกเคารพในใจจริง ๆ ก็ได้ แต่ทำด้วยความกลัวหรือสาเหตุอื่น ๆ เพื่อรักษามารยาท หรือทำตามธรรมเนียมประเพณี ความเคารพที่แท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้นในจิตใจ คือเกิดจากความรู้สึกที่ได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของบุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ จริง ๆ ไม่ใช่แสแสร้งแกล้งทำ

คุณค่าของความเคารพ
    ความเคารพเป็นสิ่งที่ดีงามในสังคม การแสดงความเคารพกันเป็นความจำเป็นสำหรับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม คนที่ไม่รู้จักเคารพที่เรียกว่า เป็นคนไม่มีสัมมาคารวะนั้น มักจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมขาดคนเชื่อถือ และการงานไม่สำเร็จ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าบุรุษหรือสตรีบางคนในโลกนี้เป็นผู้กระด้างเย่อหยิ่ง ถือตัวจัด ไม่กราบไหว้บุคคลที่ควรกราบไหว้ ลุกขึ้นต้อนรับบุคคลที่ควรต้อนรับ ไม่ให้ที่นั่งแก่บุคคลที่ควรให้ที่นั่ง ไม่หลีกทางให้บุคคลที่ควรหลีกทางให้ ไม่สักการบูชาบุคคลที่ควรสักการะบูชา ไม่ทำความความคารพบุคคลที่ควรเคารพและไม่นับถือบุคคลที่ตนควรนับถือ บุคคลนั้นย่อมไปสู่ทุคติในอนาคต เพราะการกระทำของตน ในทางตรงกันข้าม คนที่มีสัมมาคารวะ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หยาบกระด้าง รู้จักสำรวมระวัง และเคารพบุคคล สถานที่ ฯลฯ อย่างถูกต้องเหมาะสม ย่อมได้รับการยกย่องนับถือและความไว้วางใจจากคนในสังคม ตลอดจนมักจะประสงความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
นอกจากนี้ การแสดงความเคารพที่เกิดจากใจจริง ยังเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีของหมู่คณะ ก่อให้เกิดการร่วมมือกันในการกระทำกิจการต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี อีกทั้งยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของชาติเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป

3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
    ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมงคลข้อที่ 23 ในมงคลสูตร เป็นหลักปฏิบัติที่สอนให้คนเรารู้จักวางตัวให้เหมาะสม ลดความเย่อหยิ่ง ลดความหยาบกระด้าง และไม่ให้หลงยึดติดอยู่ในลาภ ยศ อำนาจ และตำแหน่ง
ความหมายของความอ่อนน้อม
    ความอ่อนน้อมถ่อมตนตรงกับภาษาบาลีว่า นิวาตะ แปลว่า ไม่มีลม ไม่พองลม แต่ควบคุมตนเองให้อยู่ในสภาพปกติที่เป็นจริง เหมือนลูกโป่งที่ยังไม่อัดลมเข้าไป ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีลักษณะคล้ายกับความเคารพ แต่เป็นคนละความหมาย กล่าวคือ ความเคารพ (คารวธรรม) เป็นการตระหนักในคุณงามความดีของคนอื่นและสิ่งอื่น แล้วปฏิบัติต่อบุคคลนั้นและสิ่งนั้นอย่างถูกต้องจริงใจ โดยเป็นการแสดงออกทางกายและทางวาจาเป็นหลัก ส่วนความอ่อนน้อมถ่อมตน (นิวาตธรรม) นั้นเป็นการตระหนักในตัวเองแล้วสามารถวางตนได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่หยิ่งยโสโอหัง ไม่โอ้อวดเกินความจริง ไม่ยกตนสูงและกดคนอื่นให้ต่ำ มีความสุภาพ ให้เกียรติผู้อื่น รู้กาลควรไม่ควร โดยเน้นเรื่องของภายในจิตใจเป็นหลัก
    ล่าวโดยสรุป ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีลักษณะตรงกันข้ามกับความเย่อหยิ่ง ซึ่งหมายถึงการทะนงตนว่า สูง ดี เด่น เกินกว่าผู้อื่น แล้วแสดงอาการจองหองเกินฐานะและยโสโอ้อวดเกินจริงความเย่อหยิ่งนั้นเกิดจากการที่คนยึดถือเอาสิ่งที่เป็นภาพลวง ไม่ใช่สิ่งจริงแท้มาเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยว และประเมินค่าตนเองว่าสูง ดี เด่นกว่าผู้อื่น จากความหมายนี้ เราสามารถจัดจำแนกคนเย่อหยิ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้
          1. คนที่เย่อหยิ่งเพราะทะนงตนว่ามีชาติกำเนิดสูง
          2. คนที่เย่อหยิ่งเพราะทะนงตนว่ามีทรัพย์สินมากมาย
          3. คนที่เย่อหยิ่งเพราะทะนงตนว่ามีวงศ์สกุลดีเป็นที่นับถือของคนทั่วไป
          4. คนที่เย่อหยิ่งเพราะทะนงตนว่ามีการศึกษาสูง
    คนเย่อหยิ่งดังกล่าวนี้มักมีความประมาท และความประมาทเช่นนี้ทำให้คนที่เย่อหยิ่งนั้นลืมตัว มีมานะจัด และแสดงกิริยาวาจาหยาบกระด้าง ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นที่มีชาติกำเนิด วงศ์สกุล ทรัพย์สิน การศึกษาต่ำกว่า
    จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีความหมายและลักษระที่ตรงกันข้ามกับความเย่อหยิ่งอย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะของคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
    คนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นไม่ใช่คนอ่อนแอดังที่กลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นคนที่อ่อนโยน เข้มแข็ง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและรู้จักยอมรับนับถือผู้อื่น คือ ผู้ที่ไม่มีปมด้อยและไม่มีปมเด่น เป็นคนที่กล้าเผชิญกับความจริง สามารถวิเคราะห์ตนเองได้ และมีความมั่นใจในตนเอง กล่าวโดยสรุปคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีลักษณะเด่น 3 ประการ ดังนี้
          1. มีกิริยาอ่อนน้อม
          2. มีวาจาอ่อนหวาน
          3. มีจิตใจอ่อนโยน
วิธีแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน
    ความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นแสดงออกได้ 3 ทาง เช่นเดียวกับความเคารพ ดังนี้
          1. การแสดงออกทางกาย ได้แก่ การแสดงกิริยาท่าทางที่สุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบกระด้าง ไม่ทำท่าหยิ่งยโส ไม่มองคนด้วยสายตาเหยียด ๆ รู้จักแสดงความเคารพผู้ใหญ่กว่าทั้งด้านชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ รู้จักให้เกียรติแก่สตรี และพร้อมที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนทางกายต้องเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่ใช่แสแสร้งหรือแสดงอาการพินอบพิเทาเกินกว่าเหตุ จนกลายเป็นการประจบสอพลอ
          2. การแสดงทางวาจา ได้แก่ การพูดจริงด้วยถ้อยคำที่สุภาพ อ่อนหวาน ไพเราะ น่าฟัง ไม่หยาบคาย นุ่มนวล ชวนให้สบายใจ รู้จักใช้คำพูดที่เหมาะสม ถูกกาละเทศะ และถูกกับบุคคล
          3. การแสดงทางใจ ได้แก่ การมีจิตใจอ่อนโยน การมองโลกในแง่ดี เนื่องจากใช้ปัญญาไตร่ตรองแล้วว่าคนเรานั้นจะให้ดีพร้อมบริบูรณ์ไปทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ แม้ตัวเราเองก็เช่นกัน การมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ จะทำให้การพูดและกิริยาท่าทางที่แสดงออกมาเป็นไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
คุณค่าของความอ่อนน้อมถ่อมตน
    พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเราไว้ว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยศีล ละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน ประพฤติตนนอบน้อมเป็นปกติ และไม่กระด้างเช่นนั้น ย่อมได้ยศ … นรชนใดเย่อหยิ่งเพราะชาติ เย่อหยิ่งเพราะโคตร (วงศ์สกุล) แล้วดูหมื่นคนอื่น ความเย่อหยิ่งนั้น เป็นหนทางของผู้เสื่อม
    จากพระพุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งที่ดีวาม ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนย่อมได้รับสิ่งที่ดีงามในชีวิต เช่น ได้ยศ ได้ลาภ ได้รับการยกย่องนับถือ สามารถอยู่ในสังคมได้เป็นปกติ และเมื่อประกอบกิจการใด ๆ ก็ได้รับความร่วมมือย่างดี ในทางตรงกันข้าม ความเย่อหยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีแต่สร้างความยุ่งยากและปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม คนที่เย่อหยิ่งจะพบแต่ความเสื่อมไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะมีแต่จะทำให้ผู้คบค้าสมาคมขุ่นข้อง หมองใจและอยากหลีกไปให้พ้น
แนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน
    ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณธรรมที่ฝึกฝนให้เกิดมีขึ้นในตนได้ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
    1. รู้จักวิเคราะห์ตนเองและผู้อื่น คือ รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาตัวเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง ตามหลักพระพุทธศาสนาได้เสมอ หลักของกรรม เป็นเกณฑ์สำหรับตัดสินิเคราะห์ตนเองและผู้อื่น หลักของกรรม ได้แก่ กุศลกรรม (การกระทำดี) และอกุศลกรรม (การกระทำชั่ว) ดังนั้น คนจะดีหรือชั่วย่อมดูได้จากการกระทำของเขา หาใช่ดูจากชาติกำเนิด วงศ์สกุล ทรัพย์สินเงินทอง การศึกษา หรือสิ่งประกอบภายนอกอื่นใดไม่
    ข้อที่ควรระวังในการวิเคราะห์ตนเองและผู้อื่น ได้แก่ ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง และต้องไม่ประเมินตนเองต่ำหว่าความเป็นจริง นั่นคือต้องยึดทางสายกลางตามรอยพระพุทธองค์
    2. ไม่ยึดมั่นในตัวตน คือ พยายามที่จะไม่ยึดถือความรู้สึกและอารมณ์ของตนเป็นใหญ่ ต้องรู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แล้วนำมาพิจารณาด้วยปัญญา คนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ลึก ๆ แล้วก็คือคนที่กำจัดทิฏฐิมานะ (ความถือตัว) ได้พอสมควร คนที่จะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนจำเป็นต้องกำจัดทิฏฐิมานะให้ได้ กำจัดได้มากเท่าไร ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็ยังมีมากขึ้นเท่านั้น
    3. เลือกคบบัณฑิต บัณฑิต หมายถึง บุคคลทีประกอบด้วยคุณงามความดี คุณ คือทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น งาม คือ ประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมน่าชมเชย ความดี คือ มีความถูกต้องทั้งทางกาย วาจา และใจ การคบกับบัณฑิตทำให้เราเห็น คุณงามความดี ในตัวคนอื่น แล้วย้อนมาพิจารณาตัวเอง หากเห็นว่ามีจุดบกพร่องหรือจุดอ่อนตรงไหนก็พยายามปรับปรุงจุดนั้น
                                                        
                                                              แบบทดสอบ

เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว (ข้อละ 1 คะแนน)

จุดประสงค์นำทางข้อ 1 อธิบายความหมายและหลักของอคติ 4 และทศพิธราชธรรม 10 ได้
1. ข้อใด ไม่ใช่ ความหมาย อคติ
    ก. ความลำเอียง                                ข. ความไม่ลังเล
    ค. ความอยุติธรรม                             ง. ความไม่เที่ยงตรง
2. ข้อใดเป็นปัจจัยพื้นฐานในเรื่องอคติ 4
    ก. ความโลภ                                      ข. ความหลง
    ค. ความเกียจคร้าน                            ง. ความอยุติธรรม
3. ข้อใดแสดงถึงอคติ
    ก. ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร
    ข. ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
    ค. ทำงานทั้งวันได้พันห้าเดินไปเดินมาได้ห้าพัน
    ง. เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง กระดูกแขวนคอ
4. ข้อใดเป็นฉันทาคติ
    ก. รักน้องจึงฟ้องพี่                                     ข. รักพี่เสียดายน้อง
    ค. น่ารักอย่างนี้จะให้พี่รักคนดีพี่หมดปัญหาง. รักน้องในทุกอย่าง ขอเข้าข้างทุกอย่างไป
5. คนที่มีพฤติกรรมแบบโมหาคติจะมีลักษณะตรงกับข้อใด
    ก. เจ้ากี้เจ้าการ                                           ข. ทองไม่รู้ร้อน
    ค. ติเรือทั้งโกลน                                        ง. ตาบอดสอดตาเห็น
6. ข้อใดกล่าวถึงทศพิธราชธรรม ไม่ถูกต้อง
    ก. เป็นธรรมสำหรับนายกรัฐมนตรี              ข. เป็นธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไป
    ค. เป็นธรรมสำหรับหัวหน้าครอบครัว         ง. เป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น
7. คำว่า ความซื่อตรง ตรงกับทศพิธราชธรรมข้อใด
    ก. ตบะ                                                       ข. มัททวะ
    ค. อาชชวะ                                                 ง. อวิหิงสา
8. สุระพูดกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนหวาน แสดงว่าสุริยะยึดมั่นในทศพิธราชธรรมข้อใด
    ก. อักโกธะ                                                 ข. มัททวะ
    ค. อวิโรธนะ                                               ง. ปริจจาคะ
9. นางเพ็ญด่าว่านายอนันต์ แต่นายอนันต์ไม่โต้ตอบ จากเหตุการณ์นี้สรุปได้ตามข้อใด
    ก. นางเพ็ญขาดอักโกธะ นายอนันต์มีขันติ
    ข. นางเพ็ญขาดตบะ นายอนันต์มีอวิโรธนะ
    ค. นางเพ็ญขาดมัททวะ นายอนันต์มีอวิหิงสา
    ง. นางเพ็ญขาดอวิโรธนะ นายอนันต์มีอาชชวะ
10. ผู้นำที่ยึดมั่นในทศพิธราชธรรมข้ออวิหิงสา จะมีพฤติกรรมตามข้อใด
    ก. ใจเย็น                                             ข. สุภาพอ่อนโยน
    ค. เข้มแข็งไม่ท้อถอย                         ง. ไม่ข่มแหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า
11. ผู้พิพากษาไม่พิจารณาคดีให้รอบคอบ ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับโทษ เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะผู้พิพากษามีอคติข้อใด
    ก. ภยาคติ                                           ข. โมหาคติ
    ค. โทสาคติ                                         ง. ฉันทาคติ
12. พฤติกรรมข้อใดเกิดจากการมีอคติ
    ก. การลูบหน้าปะจมูก                          ข. การลงโทษผู้ผิดวินัย
    ค. การเลือกที่รักมักที่ชัง                      ง. การฉ้อราษฎร์บังหลวง
13. สังคมที่กลุ่มชนไม่มีอคติจะมีสภาพเช่นไร
    ก. สงบสุข                                           ข. มีระเบียบวินัย
    ค. เจริญก้าวหน้าและมั่นคง                 ง. ไม่มีปัญหายาเสพย์ติด
14. ถ้าเด็กสองคนทะเลาะกันแม่ของเด็กทั้งสองต่างก็กล่าวว่าลูกของตนไม่ผิด โดยไม่รับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เกิดจากอคติข้อใด
    ก. ภยาคติ                                           ข. โทสาคติ
    ค. โมหาคติ                                         ง. ฉันทาคติ
15. วิธีการกำจัดอคติ คือข้อใด
    ก. ปลูกฝังความอดทน
    ข. เสริมสร้างความเข้าใจด้วยการทำสมาธิ
    ค. ทำจิตใจให้สงบด้วยการทำสมาธิ
    ง. ฝึกให้เป็นคนมีเหตุผลและคุณธรรม
16. โทษของการไม่ปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมข้ออาชชวะคือข้อใด
    ก. มีการฉ้อราษฏร์บังหลวง
    ข. ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม
    ค. ขาดการเอาใจใส่ต่อปัญหาสังคม
    ง. มีการยกย่องคนชั่ว ข่มเหงรังแกคนดี
17.ทศพิธราชธรรมข้อใดถ้าผู้นำยึดถือเป็นแนวปฏิบัติแล้วจะทำให้เป็นคนไม่ลืมตัวและหลงใหลในอำนาจ
    ก. ตบะ                                     ข. อวิโรธนะ
    ค. อักโกธะ                               ง. ปริจจาคะ
18. พฤติกรรมของผู้ปกครองในข้อใดเป็นการประพฤติ ผิด หลักอวิโรธนะ
    ก. เห็นแก่ตัว                             ข. เห็นผิดเป็นชอบ
    ค. หูเบาโมโหฉุนเฉียว              ง. ลืมตัวและหลงในอำนาจ
19. คางคกขึ้นวอ แมงปอใส่ตุ้งติ้ง เป็นพฤติกรรมของคนที่ประพฤติ ผิด ทศพิธราชธรรมข้อใด
    ก. อาชชวะ                               ข. อวิหิงสา
    ค. มัททวะ                                 ง. อักโกธะ
20. ผู้นำประพฤติ ผิด ทศพิธราชธรรมข้อใดจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากที่สุด
    ก. ทาน                                     ข. อวิหิงสา
    ค. ตบะ                                      ง. อวิโรธนะ
จุดประสงค์นำทางข้อ 3 อธิบายความหมายและหลักของมงคลชีวิตเรื่อง ความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ และความอดทนได้
21. ข้อใดมีความหมายตรงกับ ความไม่ประมาท
    ก. ไม่ดูตาม้าตราเรือ                 ข. คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล
    ค. ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม     ง. ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น
22. บุคคลในข้อใดได้ชื่อว่า ประมาทเพราะรู้แล้ว แต่ไม่นำมาคิดไตร่ตรองเพื่อปฏิบัติตามที่รู้
    ก. รจนาเลี้ยงสุนัขและแมวไว้ในบ้านจนนำโรคร้ายแรงมาให้
    ข. เทวาไม่เคารพกฎจราจร ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต
    ค. อรอุมาไม่ระวังเรื่องอาหาร รับประทานมากเกิน จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    ง. บูรพาดื่มสุราจนเมามายจึงชวนเพื่อน ๆ ไปทำร้ายเพื่อต่างสถาบันจนถูกทำร้ายบาดเจ็บ
23. การกระทำข้อใด ไม่ใช่ เป็นการเคารพในธรรม
    ก. ไม่บิดเบือนความถูกต้องให้เป็นความผิด
    ข. ยึดถือธรรมมะเป็นหลักในการดำรงชีวิต
    ค. ปฏิบัติหน้าที่การงานที่ตนได้รับมอบหมายอย่างสมบูรณ์
    ง. รู้จักใช้คำพูดที่ถูกต้องเหมาะสมและสุภาพอ่อนหวาน
24. พฤติกรรมใดมีลักษณะ ตรงข้าม กับความอ่อนน้อมถ่อมตน
    ก. กิ้งก่าได้ทอง                          ข. ต้นข้าวค้อมรวง
    ค. ถ่มน้ำลายรดฟ้า                     ง. ใช้ไม้นวมดีกว่าไม้แข็ง
25. ข้อใดถูกต้องตามความหมายของ ยถาสารุปปสันโดษ
    ก. ชาวนารักษาศีล 5ข. สามเณรรักษาศีล 8
    ค. ขอทานอยากอยู่ในวังง. เศรษฐีอยากเป็นยาจก
26. พฤกษาลู่กิ่งยามมีผลดกยามฝนจะตกเมฆคล้อยลงต่ำสัตบุรุษผู้ทรงธรรมไม่หยิ่งเพราะศฤงคารยิ่งมีมากยิ่งให้ทานช่วยเหลือคนอื่น กลอนบทนี้กล่าวถึงมงคลสูตรข้อใด
    ก. ความเคารพ                           ข. ความอดทน
    ค. ความสันโดษ                         ง. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
27. การกระทำตามข้อใด ไม่ถือว่า เป็นการเคารพในการศึกษา
    ก. มาโรงเรียนทุกวัน                   ข. พอใจในวิชาที่เรียน
    ค. ตั้งใจฟังครูที่กำลังสอน          ง. ขยันอ่านหนังสือเมื่อว่าง
28. เกี่ยวแฝกมุงป่า พฤติกรรมที่สอดคล้องกับคำพังเพยนี้ แสดงว่า ขาด มงคลชีวิตข้อใด
    ก. ความอดทน                           ข. ความสันโดษ
    ค. ความไม่ประมาท                    ง. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
29. ข้อใดมีความหมายตรงกับ ความอดทน
    ก. ด้านได้อายอด                       ข. ตื้อเท่านั้นที่ครองโลก
    ค. อดเปรี้ยวไว้กินหวาน              ง. คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
30. ผู้ที่มีความอดทนอย่างแท้จริงจะมีลักษณะนิสัยเช่นไร
    ก. ถ่อมตน                                  ข. หมั่นขยัน
    ค. สงบเสงี่ยม                             ง. ถูกทุกข้อ
จุดประสงค์นำทางข้อ 4 วิเคราะห์คุณและโทษของการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามมงคลชีวิตเรื่อง ความไม่ประมาท ความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษและความอดทน ได้
31. คนไทยบางคนนิยมเปลี่ยนรถเก๋งคันใหม่ทุก 2 ปี คนเช่นนี้เป็นคนเช่นไร
    ก. ขาดสันโดษ                           ข. นิยมของต่างประเทศ
    ค. ขาดการรู้จักประมาณ              ง. ชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต
32. พระพุทธศาสนาสอนว่า สันโดษเป็นหลักธรรมที่สร้างความสุขความสำเร็จแก่ชีวิตอย่างหนึ่ง บุคคลผู้สันโดษหมายถึงคนที่ปฏิบัติตามข้อใด
    ก. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตนหรือเป็นสิทธิของตน
    ข. ไม่มีโลภอยากได้ของผู้อื่นหรือของที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม
    ค. ภาคภูมิใจในผลได้หรือผลสำเร็จที่ชอบธรรมที่ตนสร้างขึ้นด้วยความพากเพียรพยายามสุดความสามารถ
    ง. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากกำลังของตน มีความอดทนรอคอยผลสำเร็จที่พึงเกิดจากการกระทำของตน
33. ข้อใดมีส่วนถูกมากที่สุด
    ก. คนไทยส่วนมากมีนิสัยเฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง และอิทธิพลของภูมิอากาศ
    ข. คนไทยส่วนมากมีนิสัยเฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะถือคติว่า ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม
    ค. คนไทยส่วนมากมีนิสัยเฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเคยอยู่สบาย ไม่มีความจำเป็นจะต้องแข่งกันทำมาหากิน
    ง. คนไทยส่วนมากมีนิสัยเฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะอิทธิพลของการตีความพุทธธรรมบางข้อผิด เช่น เรื่องสันโดษ เป็นต้น แล้วยึดถือตามที่ตีความผิดนั้น
34. จงเจียมจิตเหมือนนกกะจ้อยร่อย ตัวนั้นน้อยทำรังพอฝังแผง รอดจากภัยพารากาเหยี่ยวแร้ง พอคล่องแคล่วอยู่สบายจนวายปราณ หากเราปฏิบัติตน ไม่สอดคล้อง กับข้อคิดที่ได้จากบทกลอนนี้จะเกิดผลตามข้อใด
    ก. ไม่มีความสุขในชีวิต                        ข. ประสบแต่ความล้มเหลว
    ค. ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม    ง. มีชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวง
35. สุเมธถูกเพื่อน ๆ เยาะเย้ย ดูหมิ่นเหยียดหยามว่าเป็นลูกคนจน บ้านนอก แต่เขาก็ไม่โกรธเพื่อน ๆ และยอมรับความจริง แสดงว่าสุเมธยึดหลักธรรมข้อใดเป็นแนวปฏิบัติ
    ก. ความอดทน                                     ข. ความสันโดษ
    ค. ความไม่ประมาท                              ง. ความอ่อนน้อมถ่อมตน